การบริหารพื้นที่การทำเกษตร

ดิน น้ำ ลม ไฟ และจอมยุทธ

กับการบริหารพื้นที่การทำเกษตร

ารบริหารจัดการพื้นที่การทำเกษตรเราจะต้องคำนึงถึงเรื่องประโยชน์ใช้สอยในระยะยาว หลายคนมีความฝันที่จะกลับมาทำการเกษตรอยู่ที่บ้าน มีความเบื่อหน่ายจากสังคมเมือง แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มจากอะไรดี ตอนนี้ถ้าอยากกลับมาทำเกษตรที่บ้านก็น่าจะเล็งพื้นที่ทำการเกษตรของตัวเองไว้ซักแปลงแล้ว

การปรับปรุงพื้นที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยและจัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับทำเกษตรจะต้องทำการเลือกพื้นที่ให้ดี เพราะพื้นที่ที่เราเลือกจะต้องอยู่กับเราไปอีกนาน จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการตรวจสอบพื้นที่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นดิน แหล่งที่มาของน้ำ ทางน้ำฝน ลม ความชื้น อุณหภูมิ สภาพอากาศ แสงแดด สภาพพื้นที่ข้างเคียง ฯลฯ

โดยการแบ่งพื้นที่แบบ 30:30:30:10 ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ เมื่อเราแบ่งได้แล้วว่าเราจัดพื้นที่ไหนเป็นบ้าน แปลงพืช แหล่งน้ำแล้ว ก่อนอื่นเราต้องมาดูปัจจัย 4 หลักที่จะกล่าวในวันนี้คือ ให้สังเกตุดิน น้ำ ลม ไฟ จอมยุทธ (เหมือนในหนังจีนไหมครับ) ในพื้นที่ของเราก่อน ว่าแล้วเป็นยังไงไปดูกันเลยครับ


ดิน

        ต้องดูดินในพื้นที่เราว่าอุ้มน้ำได้ดีหรือไม่ เพราะลักษณะดินจะมีผลต่อการออกแบบพื้นที่ของเรา ต้องมีการปรับปรุงฟื้นฟูดินโดยการใช้ปุ๋ยพืชสด ฟาง ปุ๋ยหมัก ใบไม้ หญ้า และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้เหมาะสมกับดิน ขั้นตอนการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นอินทรีย์ จะต้องมีการปลูกปุ๋ยพืชสด เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง จากนั้นก็ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนจะปลูกพืชผักที่เราต้องการ กรณีที่อยู่อาศัยให้เลือกพื้นที่สูงไม่มีน้ำขังและไมขวางทางน้ำไหลผ่าน

การบริหารพื้นที่การทำเกษตร

พื้นที่ของตัวเอง

        เป็นพื้นที่บริเวณที่ผ่านการปลูกอ้อยและมันสัมปะหลังมาทุกปี ใช้ปุ๋ยเคมีมาทุกรอบ สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย อันดับแรกที่ผมทำคือปรุงดินโดยการปลูกปุ๋ยพืชสดก่อน ผมเลือกปลูกแตงโมเป็นปุ๋ยพืชสด หลังจากที่เราเอาผลแตงโมออกแล้วก็ไถ่กลบเถาแตงโมให้เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อให้ดินสมบูรณ์ต่อไป หลังแตงโมชุดนี้แล้วอาจจะผมอาจจะปลูกถั่วหรือปอเทืองในบริเวณนี้อีกซักรอบเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นครับ


น้ำ

        ควรขุดสระเป็นที่เก็บน้ำฝนไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง มองให้เห็นคุณค่าของน้ำฝนที่ตกมาในยามน้ำหลาก การขุดสระขุดหนองให้ดูทางน้ำเข้าและออกที่เข้ามาในพื้นที่ วางตำแหน่งของหนองน้ำในทิศทางที่ให้ลมร้อนพัดผ่านเข้าสู่ตัวบ้าน ก็จะทำให้บ้านเย็นขึ้น

การขุดหนองจะทำให้เราได้กินปลาและปลูกพืชน้ำให้เป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลา โดยการขุดหนองจะได้ทั้งน้ำในการทำเกษตรและได้กินปลาที่เราเลี้ยงไว้ด้วย แต่ถ้าพื้นที่น้อยอาจเจาะน้ำบาดาลแล้วนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้และต้องมีการปลูกไม้ยืนต้นหลาย ๆ ชนิดในพื้นที่ เพื่อให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมลงไปตามรากเป็นน้ำใต้ดินด้วย

ส่วนถ้ามีการเลี้ยงสัตว์ต้องมั่นใจได้ว่ามีน้ำมากพอในการทำความสะอาดคอก เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการน้ำที่แตกต่างกัน อย่างถ้าจะเลี้ยงไกก็จะใช้น้ำไม่เยอะ แต่ถ้าเป็นหมูแล้วจะต้องมีการล้างคอกต้องมั่นใจได้ว่าน้ำของเรามีแรงดันที่สูง หรืออย่างเช่นเลี้ยงวัวนมก็มีความต้องการใช้น้ำที่สูงเช่นเดียวกัน

การบริหารพื้นที่การทำเกษตร

พื้นที่ของตัวเอง

        เป็นพื้นที่บริเวณเนินดินทำให้ขุดสระไม่สะดวก เลยต้องมีการเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ทำการเกษตร โดยเลือกเจาะบริเวณกลางพื้นที่ วิธีนี้จะดูดน้ำขึ้นมาใช้ในบริเวณบ้านพักได้หรือดูดขึ้นไปที่ถังพักบนเนินก็ไม่เสียพลังงานมาก

เพื่อน ๆ อาจจะสงสัยว่าทำไมไม่เจาะบนเนินเลยจะได้ไม่เสียกำลังในการดูดน้ำ แต่อย่าลืมนะครับว่า ถ้าเจาะบนเนินก็จะต้องเจาะด้วยความลึกที่มากกว่าปกติทำให้โอกาสในการเจอน้ำหรือมีน้ำน้อยก็มีมากกว่าเจาะในตอนกลางหรือที่ลุ่มกว่า ซึ่งเมื่อพูดถึงการทำเกษตรแล้ว น้ำเปรียบเสมือนชีวิตที่ขาดกันไม่ได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องน้ำ ! เอาให้จบนะครับ



ลม

        ดูทิศทางการเข้าของลมกับบริเวณตัวบ้านที่จะปลูก ลมจะหอบทั้งร้อนและฝนเข้ามาในพื้นที่ ต้องดูด้วยว่าลมพัดเข้ามาทางไหน ปกติแล้วลมฝนจะพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนลมหนาวจะพัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจึงควรวางตำแหน่งบ้าน ลานตากข้าว โรงปุ๋ยหมักไม่ให้ขวางทิศทางลมที่จะพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

การออกแบบบ้านควรให้มีช่องลมเข้าและออกรับกับทิศทางลมที่พัดมาในแต่ละฤดูกาล จะทำให้บ้านเย็นและมีแสงสว่างทั่วถึง ลดการใช้พลังงานได้อีกทาง ถ้าจะมีการเลี้ยงสัตว์ก็ควรวางบริเวณคอกสัตว์ให้อยู่ห่างไกลจากที่พักและไม่อยู่ในแนวทิศทางของลมที่จะพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

การบริหารพื้นที่การทำเกษตร

พื้นที่ของตัวเอง

        ตอนที่ผมเขียนบทความนี้เป็นช่วงปลายปี ลมหนาวพัดผ่านมาทางภูเขาในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เดี่ยวต้องดูหน้าร้อนว่าลมจะเข้าทางไหน จะได้ปลูกบ้านให้รับการทิศทางการมาของลม และวางทิศทางของลานเอนกประสงค์ โรงปุ๋ยหมักไม่ให้ขวางทางลมที่จะพัดเข้าบ้าน เป็นการเลี่ยงกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของกลิ่นได้อีกทาง วิธีนี้จะทำให้บ้านเย็นขึ้นและลดการใช้พลังงาน (พัดลม แอร์) ได้เป็นอย่างดี


ไฟ

        ไฟก็คือแสงจากดวงอาทิตย์ที่ให้ความร้อนนั่นเอง ต้องมีการสำรวจทิศทางขึ้นของดวงอาทิตย์ในพื้นที่เกษตรของเรา ควรสังเกตุหลาย ๆ ครั้งในทุกฤดู เพราะในแต่ละฤดูจะมีทิศทางและเวลาการขึ้นลงที่ไม่เหมือนกัน หน้าร้อนพระอาทิตย์จะขึ้นตรงเป็นแนวตั้งกับหัวของเรา หน้าฝนมีเมฆครึ้มไม่ค่อยเจอแสง หน้าหนาวพระอาทิตย์จะขึ้นอ้อม ๆ ไปทางทิศใต้ ให้เราลองสังเกตุในพื้นที่เกษตรของเราดูนะครับ

การบริหารพื้นที่การทำเกษตร

พื้นที่ของตัวเอง

        ก็ต้องทำการวางที่อยู่อาศัยไม่ให้ทอดเงาไปยังบริเวณเพาะปลูก วางตำแหน่งห้องนอนให้อยู่ทางทิศตะวันออก บริเวณที่นั่งเล่นนั่งทำงานให้อยู่ในร่มเงาของต้นไม้และตัวบ้านในช่วงตอนบ่าย การวางผ้าแสลนคลุมพืชผักที่ปลูกก็เช่นกัน ตอนกลางวันในหน้าร้อนต้องวางแสลนตรงกับพืชผักเพราะผักจะได้รับแสงอาทิตย์เต็ม ๆ

หน้าร้อนต้องดูเรื่องน้ำที่ให้ผักและผ้าแสลนเป็นพิเศษ ส่วนหน้าหนาวแดดจะร้อนแต่ความชื้นในอากาศมีค่อนข้างสูง การให้น้ำจะไม่บ่อยเท่าหน้าร้อน ที่สำคัญดวงอาทิตย์ตอนหน้าหนาวจะขึ้นอ้อมเฉียงไปทางทิศใต้ อาจจะต้องมีการปรับแสลนเพื่อให้ตรงกับองศาของดวงอาทิตย์


จอมยุทธ

        จอมยุทธนั้นก็คือคนนั่นเองครับที่จะต้องลงมือฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามไปให้ได้ (ว่าไปนั่น 555) เพราะคนคือหัวใจสำคัญที่สุดของการออกแบบ โดยออกแบบให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยจึงจะเรียกว่าดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะอยู่กับพื้นที่นี้มากที่สุดก็คือตัวเรานั่นเอง

การบริหารพื้นที่การทำเกษตรพื้นที่ของตัวเอง

        สุดท้ายอย่างที่ผมบอก เราก็ต้องเลือกให้ตรงกับความต้องการของตัวเองอยู่ดี ผมไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ของเพื่อน ๆ ต้องออกแบบยังไง เอาเป็นว่าเลือกให้ตรงใจเราจะดีกว่าครับ เราต้องเป็นคนออกแบบเอง บริหารจัดการวางแปลนในพื้นที่ก่อน

ลองวาดพื้นที่ของเราเป็นฉบับร่างลงในกระดาษดูก่อน ขึดนู้นเขียนนี่ลงไปก่อนเพื่อดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ดูทางน้ำไหลเมื่อเกิดฝนตกว่าน้ำจะไหลมาทางสิ่งปลูกสร้างหรือเปล่า ดูทิศทางลม ดูทิศทางขึ้นของพระอาทิตย์ในแต่ละฤดู มีการจดบันทึกเป็นระยะ ต้องลงพื้นที่ไปดูด้วยตนเองบ่อย ๆ

ในการบริหารจัดสรรพื้นทีี่ของเราเอง เราจะต้องรู้ลึกรู้จริงทุกซอกทุกมุมสามารถหลับตาจินตนาการได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ในการปลูกพื้นก็ควรเน้นไปที่การปลูกพืชผสมผสานหลากหลายพันธุ์ เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้ 100%

ดิน น้ำ ลม ไฟ และจอมยุทธ

กับการบริหารพื้นที่การทำเกษตร

        แล้วเพื่อนล่ะครับ ตอนนี้กำลังบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร เล่าสู่กันฟังที่คอมเม้นต์ด้านล่างได้เลยนะครับ ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมรออ่านอยู่