น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร

38189
น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร
Cr images : pixabay.com

น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร

ถ้าพูดถึงเรื่องการทำเกษตรแล้ว สิ่งที่จะต้องมาควบคู่และต้องเตรียมให้พร้อมนั่นก็คือเรื่องน้ำ โดยมีคำกล่าวที่ว่าน้ำเปรียบเสมือนเป็นหัวใจหลักของการทำเกษตร เนื่องจากพืชจะต้องอาศัยน้ำในการเจริญเติบโต ทั้งยังมีส่วนช่วยนำสารอาหารในรูปแบบของสารละลายทั้งทางดินและทางใบไปเป็นอาหารของพืชอีกด้วย ในวันนี้ผมจะพูดถึงเรื่องการนำน้ำเข้ามาใช้ในการทำเกษตรว่ามีที่มาจากแหล่งใดบ้างที่เราจะสามารถนำมาใช้ได้ โดยสิ่งที่จะต้องดูเป็นอันดับแรกกลับไม่ใช่น้ำเลยแม้แต่น้อย แต่หากเป็นสภาพพื้นที่ของตนเองว่ามีลักษณะอย่างไร

        ทำไมผมถึงบอกว่าต้องดูสภาพื้นที่ของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก ก็เพราะว่าพื้นที่ทำเกษตรของเรามีส่วนสำคัญที่จะเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก ต้องดูว่าอยู่ใกล้แหล่งชุมชนมากเท่าใด ความลาดชันของพื้นที่เป็นอย่างไร เวลาฝนตกน้ำจะไหลจากทิศใดไปทิศใด สามารถระบายน้ำได้เร็วแค่ไหน ปลูกพื้นทนน้ำไว้บริเวณที่ลุ่มด้วยไหม มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านหรือไม่และสามารถดูดไปใช้ได้ไกลมากแค่ไหน ถ้าจะเจาะน้ำบาดาลสภาพดินเป็นหิน ดินดาลหรือดินเหนียว เจาะบริเวณใดที่สามารถปั้นขึ้นถังที่จะกระจายน้ำไปได้ทั้งทั่วบริเวณไร่ ถ้าขุดบ่อกักเก็บน้ำจะนำดินที่ขุดขึ้นมาเอามาทำประโยชน์สูงสุดกับพื้นที่ได้อย่างไร ขุดลึกเท่าไหร่ กว้างยาวกี่เมตร มีการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับการปลูกพืชด้วยหรือไม่ หรือถ้ามีที่ดินติดหมู่บ้านมีน้ำปะปะมากพอที่จะนำมาทำเกษตรได้หรือไม่ ต้องเจาะน้ำบาดาลเพิ่มอีกไหม

        ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่คำถามที่ยังไม่ได้เจาะลึกลงไปมากนัก แต่ก็อาจจะทำให้หลาย ๆ คนปวดหัวตัวร้อนเป็นไข้แล้ว (ฮา) แต่อย่าพึ่งเวียนหัวไปครับ เพราะว่าการที่เราจะทำการเกษตรให้สำเร็จนั้น ระบบน้ำที่วางไว้จะต้องผ่านการวางแผนจะสามารถเชื่อใจได้ว่าจะไม่มาเป็นปัญหากับการทำเกษตรในภายหลัง เราจะต้องลองผิดลองถูกกับระบบน้ำในการทำเกษตรจนสามารถมั่นใจได้ว่าการปลูกพืชโดยใช้ระบบน้ำที่เราวางไว้สามารถปลูกพืชได้อย่างไม่เป็นปัญหา เพราะเราคงไม่อยากจะแก้ปัญหากับระบบน้ำบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ

 

น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร

        ในวันนี้ผมก็จะมาแนะนำระบบน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรว่าสามารถนำมาจากแหล่งไหนบ้าง โดยสามารถจำแนกแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรออกเป็นดังนี้
น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร
Cr images : pixabay.com

1.แหล่งน้ำจากธรรมชาติ

        ในการใช้แหล่งน้ำจากธรรมชาตินี้ ถ้าเรามีที่ดินที่ติดห้วย หนอง คลอง บึง ถือว่ามีความโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่เราจะสามารถสูบน้ำขึ้นมาเพื่อทำการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ยิ่งถ้าติดบึงใหญ่หรือแม่น้ำก็จะการันตีได้ว่าจะมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืขอย่างแน่นอน โดยเราจะต้องมีการดูพื้นที่ทั้งหมดว่าส่วนที่อยู่ไกลที่สุดจะทำให้น้ำไปถึงด้วยวิธีการใดและจะทำแทงค์เก็บน้ำด้วยหรือไม่ เราจะดูดน้ำเข้าสวนเลย หรือจะดูดขึ้นเก็บในถังแล้วปล่อยเข้าสวนทีละน้อย อันนี้เป็นคำถามที่เราจะต้องกลับไปพิจารณา

พูดมามีแต่ข้อดีแล้วถ้าถามว่ามีข้อเสียบ้างหรือเปล่า แน่นอนเมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียอยู่แล้วครับ เพราะถ้าปีไหนที่แล้งมาก ๆ ก็เป็นไปได้ว่าน้ำจะแห้งเหือดหาย อย่าลืมว่ามันเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ใครก็สามารถสูบไปใช้ได้เหมือนกัน ยิ่งแล้งก็ยิ่งสูบ ยิ่งสูบก็ยิ่งแห้ง ส่วนถ้าปีไหนฝนดีมาตั้งแต่หัวปี น้ำก็จจะต้องท่วมบริเวณพื้นของเราก่อนอย่างแน่นอนเราจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นน้ำก็จะทำความเสียหายให้พืชได้ครับ

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการเตรียมรับมือกับภัยแล้งและน้ำท่วมให้ดีนะครับ ส่วนในพื้นที่ของผมที่ติดกับห้วยที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก็มีน้ำให้สูบใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่พอฝนตกหนักน้ำก็จะระบายออกไม่ทันจนล้นทะลักพัดคันนาขาดทำความเสียหายไปมากเหมือนกันครับ

 

น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร
Cr images : www.ablewaterpump.com

2.การเจาะน้ำบาดาล

        การเจาะน้ำบาดาลก็เป็นอีกวิธีหนึงที่หลาย ๆ คนเลือกใช้เมื่อไม่ได้มีที่ดินที่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เราสามารถเลือกเจาะบริเวณไหนก็ได้เพื่อให้ตรงกับความต้องการกับกับพืชที่เราวางแผนที่จะปลูก การเจาะน้ำบาดาลจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดปีและใช้พื้นที่ไม่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องทราบก็คือเราจะต้องหาช่างขุดเจาะบาดาลที่มีความสามารถในการหาตาน้ำได้ดี มีความชำนาญในการขุดเจาะ ปกติแล้วการเจาะน้ำบาดาลถ้าไม่เจอน้ำตั้งแต่หลุมแรก ช่างก็จะทำการเจาะหลุมใหม่ไปเรื่อย ๆ 2-3 หลุมจนกว่าจะเจอน้ำทำให้เสียเวลา

หรือแม้กระทั่งเมื่อใช้น้ำปะปาผ่านไป 4-5 ปี น้ำก็อาจจะหมดทำให้ต้องขุดหลุมใหม่ก็เป็นได้เช่นกันครับ ส่วนราคาค่าเจาะก็จะอยู่ที่ 20000-35000 บาทแล้วแต่จะตกลงกันครับ

ผมคิดว่าการเจาะน้ำบาดาลเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าน่าลงทุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำเกษตรน้ำคือปัจจัยสำคัญเป็นอันดับหนี่งเลยทีเดียวครับ

 

Cr images : pixabay.com
Cr images : pixabay.com

3.การขุดสระ ขุดบ่อ

        สำหรับการขุดสระเราจะต้องสละพื้นที่ส่วนหนึ่งในการขุดเป็นสระเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่คนส่วนใหญ่พิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้ายเนื่องจากจะต้องเสียพื้นที่เพาะปลูกออกไป

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียนะครับ ข้อดีคือเรายังจะได้ดินขึ้นมาถมทำเป็นเนินสำหรับทำสิ่งปลูกสร้างหรือถมเป็นโคกสำหรับปลูกผักสวนครัวและไม้ยืนต้น เลี้ยงไก่เลี้ยงปลาทำศาลาริมน้ำ ที่สำคัญอากาศบริเวณนั้นจะเย็นสบายตลอดทั้งวันอีกด้วย แล้วก็อย่าลืมนะครับว่าเราจะมีน้ำใช้ในการทำเกษตรตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน

การขุดสระควรขุดให้มีความลึกมากกว่า 3 เมตร เพราะตามที่ทฤษฎีตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้คือ ใน 1 ปีมี 300 กว่าวัน และใน 1 วันน้ำจะระเหยออกไปวันละ 1 ซม. นั่นหมายความว่าถ้าเราขุดสระให้มีความลึกมากกว่า 3 เมตร ( ควรลึก 4-5 เมตร ) เราก็จะยังมีน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนและการทำเกษตรอย่างแน่นอน อันนี้ไม่นับหน้าฝนที่ฝนตกหนักและหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัดที่ไม่มีฝนตกเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนนะครับที่เราสามารถนำมาเฉลี่ยกัน

ท่านใดที่สนใจการขุดสระสำหรับใช้ในการทำเกษตรผมแนะนำให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการโคกหนองนา ใน Youtube ได้นะครับ รับรองคุ้มค่าแน่นอน

 

น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร
Cr images : pixabay.com

4.น้ำปะปา

        น้ำปะปะเป็นตัวเลือกไว้สำหรับคนที่มีบ้านและที่ดินติดกับหมู่บ้านก็จะมีน้ำปะปาสำหรับใช้ในการทำเกษตร การใช้น้ำปะปาผมแนะนำว่าควรจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองในบ้านที่แปลงไม่ใหญ่นัก จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้ทำเกษตรอย่างแน่นอน

คำแนะนำคือไม่ควรใช้น้ำปะปาในการทำเกษตรแปลงใหญ่ เพราะถ้าช่วงไหนเป็นหน้าแล้งที่คนต้องการใช้น้ำเยอะ น้ำปะปาก็จะไม่เพียงพอต่อความต้องการในการทำเกษตรของเรา อย่าลืมว่าเราใช้คนอื่นก็ใช้เช่นเดียวกัน ถึงเราจะมีเงินจ่ายค่าน้ำแต่ไม่มีน้ำให้ใช้มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยครับ

 

น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร
Cr images : pixabay.com

5.น้ำฝน

        ในการทำเกษตรน้ำฝนเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน เราจะต้องดูทิศทางน้ำไหลน้ำเข้าน้ำออกในพื้นที่ของเราเพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังเวลาฝนตกหรือจะต้องทำทางน้ำเพื่อระบายน้ำลงสระที่เราขุดไว้

เมื่อถึงหน้าฝนเราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำจากสระหรือบาดาล แต่ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีในช่วงหน้าฝนเพื่อไม่ให้พืชของเราเสียหายนั่นเองครับ ควรวางแผนปลูกพืชที่ไม่ชอบน้ำให้อยู่บริเวณที่สูงเพื่อให้น้ำระบายออกได้ทันและปลูกพืชที่ทนต่อน้ำขังได้ในระดับหนึงไว้บริเวณที่ลุ่ม ปลูกหญ้าแฝกไว้รอบบริเวณไร่เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินเนื่องจากน้ำกัดเซาะ ทำคูคันหรือร่องน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำออกได้ทันเมื่อฝนตกหนัก ถ้ามีสระก็ทำทางน้ำเพื่อรับน้ำจากพื้นที่ของตนเองและน้ำที่ไหลมาจากที่คนอื่น มีท่อระบายน้ำออกจากสระเมื่อน้ำมีความสูงในระดับที่ต้องการ หรืออาจจะทำทางน้ำไหลเข้าร่องพืชที่ปลูกไว้เพื่อให้ได้รับน้ำจากธรรมชาติอย่างเต็มที่และจะเป็นการประหยัดเวลาในการให้น้ำในแต่ละวันของเราอีกด้วย

 

คำแนะนำ การใช้แรงโน้มถ่วง

        ผมได้มีโอกาสไปเห็นระบบน้ำที่ไร่ของอาจารย์อธิศพัฒน์ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ระบบน้ำนั้นอาจารย์จะใช้โอ่งใบใหญ่หลาย ๆ ใบกักเก็บน้ำฝนไว้ โดยโอ่งเหล่านั้นจะตั้งอยู่บริเวณสูงสุดของไร่ จากนั้นก็วางท่อเมนต์ลงมาตามแนวลาดชันของพื้นที่ด้านล่างและต่อท่อย่อยเข้าสู่แปลงพืชอีกทีหนึง ซึ่งเป็นการใช้แรงดันน้ำในการทำเกษตรโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลกให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกทาง

วิดีโอรีวิวไร่อาจารย์อธิศพัศน์

 

วิดีโอ น้ำที่ใช้ในการทำเกษตร

 

สรุปแล้วเรื่องระบบน้ำเราจะต้องดูพื้นที่ของเราก่อนที่จะตัดสินใจวางระบบน้ำในแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้การใช้น้ำในพื้นที่ของเราเกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเองครับ