เกษตรอินทรีย์ มีดีอะไร !
การที่ผมจั่วหัวบทความแบบนี้ คงมีหลายคนสงสัยว่าผมหมายถึงอะไรกันแน่ อย่าพึ่งตีความไปต่าง ๆ นานาครับ เอาเป็นว่าใจเย็น ๆ ลองอ่านบทความที่ผมเขียนนี้ก่อนครับ ว่าเกษตรอินทรีย์ มีดีอะไร ! เรื่องราวการทำเกษตรอินทรีย์ตอนนี้กลายเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นอย่างกว้างขวาง จากข่าวที่ออกมาในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่มาจากหลาย ๆ อาชีพ ที่ตัดสินใจแบนเข็มทิศสู่วิถีสโลว์ไลฟ์สไตล์เกษตรทำเรื่องที่ตัวเองถนัดและสนใจ ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่เราทำเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยวขายแบบเหมาแปลงเหมาสวนมาเป็นเวลาช้านาน ข้อได้เปรียบของคนรุ่นใหม่ที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่มี คือการผลิต แปรรูปและจัดจำหน่ายเอง ทั้งยังมีความรู้ความชำนาญในการทำตลาดออนไลน์ สร้างตัวตนเรื่องราวของตัวเองและรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ ในขณะที่บางแห่งมีศักยภาพมากพอที่จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก็สามารถจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ได้ไปในตัว
ในปัจจุบันเกษตรยังลืมตาอ้าปากไม่ได้เนื่องจากนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในขณะเดียวกันราคาผลผลิตก็ดิ่งลงเหวสวนทางกับราคาปุ๋ยยาค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น มีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เกษตรกรนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตอาหารเองแท้ ๆ แต่ไม่มีอาหารเป็นของตัวเอง อ้อย มันสัมปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ก็ขายเข้าโรงงานหมด ได้เงินก็ต้องนำมาใช้หนี้ค่าปุ๋ยยาที่มีราคาแพง รอบต่อไปก็ต้องไปเป็นหนี้เพื่อจะมาปลูกในรอบต่อไป ชีวิตของเกษตกรต้องตกเป็นทาสของนายทุนอยู่ร่ำไป ปลูก ซื้อปุ๋ย เป็นหนี้ ขาย ปลูก ซื้อปุ๋ย เป็นหนี้ ขาย ปลูก ซื้อปุ๋ย เป็นหนี้ ขาย ปลูก ซื้อปุ๋ย เป็นหนี้ ฯลฯ วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น
เกษตรกรคือผู้ผลิตอาหาร
แต่ไม่มีความมั่นคงทางอาหารและอาชีพเลย
เพราะฉะนั้นการทำเกษตรอินทรีย์ตอนนี้น่าจะเป็นทางรอดมากกว่าทางเลือก ผู้บริโภคเองตอนนี้ก็ตระหนักกับสิ่งที่ทานเข้าไปทุกวันเช่นกัน เกษตรกรอย่างเราถามใจตัวเองดูว่า เราจะกลับไปสู่วิถีเดิม ๆ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แบบนั้นไม่ดีกว่าหรอ
การทำเกษตรอินทรีย์ คือการทำเกษตรโดยมุ่งเน้นไปที่การทำเพื่อส่วนรวมและการทำให้คุณภาพของชีวิตผู้คนดีขึ้น เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่าในระยะสั้น ถ้าคุณลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตแล้วจะพบว่า เกษตรอินทรีย์มีหลากหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะให้คำจำกัดความ
ส่วนความหมายของผมนั้นก็คือ
” เกษตรอินทรีย์ หมายถึง การทำเกษตรโดยอิงวิถีธรรมชาติ ที่เน้นไปที่ความปลอดภัยและความมั่นคงของคุณภาพชีวิต เป็นการมุ่งหวังทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ในขณะเดียวกันก็ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศไปในตัว ผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภค กระบวนการผลิตก็ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นเหมือนการคืนสมดุลให้กับชีวิตและธรรมชาติอย่างยั่งยืน “
ทีนี้เรามีดูข้อดีของการทำเกษตรอินทรีย์กันบ้าง ว่ามีอะไรบ้าง
- ปลอดภัยต่อผู้ผลิตเพราะงดใช้สารเคมีต่าง ๆ
- ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
- ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์
- ผลผลิตจำหน่ายได้ราคาสูงเมื่อเทียบกับพืชชนิดเดียวกัน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าอินทรีย์กันมากขึ้น
- ลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่มีราคาสูง
- ใช้เมล็ดที่ผลิตโดยกระบวนการทางธรรมชาติ เป็นการรักษาเมล็ดพื้นบ้านช่วยทำให้เมล็ดพันธุ์พืชบ้านไม่สูญหาย
- รีไซเคิลทรัพยากรจากธรรมชาติที่เหลือทิ้งกลับมาใช้โดยไม่สูญประโยชน์ เช่น ฟางข้าว มลูสัตว์ เศษใบไม้ ฯ
- ลดการเสื่อมสภาพของดิน และลดมลพิษทางดิน น้ำ อากาศ
- เวลาฝนตกไม่สารพิษไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองหรือไปบริเวณพื้นที่ข้างเคียง
- เน้นไปที่การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และสามารถปลูกจิตสำนึกการรักธรรมชาติให้กับเด็กรุ่นใหม่
เงื่อนไขในการขอใบรับรองเกษตรอินทรีย์มีคร่าว ๆ ดังนี้
- ผืนดินต้องปลอดการให้สารเคมีและยาฆ่าแมลงติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี (พื้นที่เราก็ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้วและสามารถขอได้ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปนับจากเริ่มทำ)
- ไม่ใช้สารเคมี สารเร่งโตและฮอร์โมนใด ๆ
- มูลสัตว์ที่นำมาทำเป็นปุ๋ยต้องไม่ผ่านการเลี้ยงด้วยสารเคมี
- วัตถุดิบที่นำมาทำปุ๋ยต้องมาจากธรรมชาติ
- ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผสมข้ามสายพันธุ์และเมล็ดที่ตัดแต่งพันธุกรรม (GMO)
- มีแนวป้องกันหรือแนวกันชนสารเคมีจากพื้นที่เกษตรข้างเคียง อาจจะปลูกพืชแนวกันไว้ เช่น กล้วย กอไผ่ ตะไคร้ ข่า เป็นต้น โดยพื้นที่ที่จะขอใบรับรองเกษตรอินทรีย์คือพื้นที่ด้านในถัดจากพืชแนวกันชนเข้ามา
- น้ำที่ใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์คือน้ำจากใต้ดินหรือน้ำบาดาล
- น้ำที่ใช้ล้างผลผลิตต้องสะอาดไม่มีสารเคมีปนเปื้อน
- …………………… หลักเกณฑ์รายละเอียดมีมากกว่านี้ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายองค์กรให้การตรวจและออกรองรับ ขึ้นอยู่กับว่าขอเครื่องหมายใบรับรองใด
เกษตรอินทรีย์ กับระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน
ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตอินทรีย์อาจจะเป็น 3-5 ปี ต้องมีการออกแบบฟาร์ม การเลือกพืชที่ปลูก การวางแผนในการปลูก ฯ และอัตราการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน ในระยะแรกอาจให้ผลผลิตที่ตำกว่าการทำเคมี แต่ช่วงหลัง 3-5 ปีเป็นต้นไป ผลผลิตอินทรีย์จะเพิ่มสูงขึ้น ดินและสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการเรียนรู้ที่จะทำตามกฏของธรรมชาติ เป็นการปลูกพืชที่หลายหลายมากกว่าการปลูกชนิดเดียวเพื่อป้องกันโรคและแมลง ตอนนี้สินค้าอินทรีย์มีราคาที่สูงกว่าสินค้าปกติ ที่สำคัญผู้บริโภคตอนนี้ก็มีความต้องการสินค้าอินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครปฏิเสธสินค้าอินทรีย์หรอกครับ แต่ที่ไม่เลือกก็เพราะว่าไม่มีสินค้าอินทรีย์ให้เลือกต่างหาก !
การจัดจำหน่าย
สำหรับผู้ที่ปลูกผักไว้ทานเองก็ไม่จำเป็นต้องขอใบรับรองเกษตรอินทรีย์ แต่สำหรับผู้ที่จะปลูกเพื่อเชิงการค้าจำเป็นต้องขอใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และจะได้เครื่องหมายที่จะนำไปติดบรรจุภัณฑ์เพื่อใช้จัดจำหน่ายต่อไป แต่ในปัจจุบันมีข่าวที่ผมเห็น คือมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่วนจะเป็นไปในแนวทางไหนนั้น ผมจะลงเพิ่มเติมในบทความต่อไปครับ
จะเห็นได้ว่าการขอใบรับรองมีขั้นตอนที่เยอะพอสมควร แต่ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเราเองและคนในครอบครัว แม้กระทั้งสิ่งแวดล้อมที่เป็นผืนดินของบรรพบุรษของเราเอง รวมไปถึงสุขภาพของผู้คนที่เราหยิบยื่นผลผลิตออกไปให้ ถ้าทุกคนคิดว่าให้คนอื่นเริ่มก่อน ก็คงไม่มีใครเริ่มทำซักทีหรอกครับ เริ่มง่าย ๆ ที่ตัวเราเองดีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่ทรัพย์สินเงินตราที่หลายคนไขว้คว้าก็ได้ แต่อาจเป็นสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงที่เราควรหันมาใส่ใจเป็นอันดับแรก กลับไปสู่วิถีธรรมชาติ กลับไปสู่วิถีดั้งเดิมที่เราเคยทำกันมา เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ คือการทำอนาคตที่มุ่งกลับสู่อดีตที่งดงามอย่างแท้จริง
และจากคำถามที่ว่า เกษตรอินทรีย์ มีดีอะไร
ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดจะเป็นใครที่ไหน
ดีหรือไม่ ถามใจคุณดู !