รีวิวไร่อธิศพัฒน์
หลังจากที่ได้หนังสือเกษตรอินทรีย์ภาคปฏิบัติ เล่ม 3 มาอ่านและได้รีวิวหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว ผมมีความตั้งใจและบอกกับตัวเองว่าจะต้องไปศึกษาเรียนรู้กับอาจารย์อธิศพัฒน์ให้ได้ ได้เบอร์จากหน้าปกหนังสือก็ทำการโทรสอบถามจึงได้ทราบว่าจะมีการเปิดอบรมในอีก 2 อาทิตย์ที่จะถึงนับจากตอนโทรติดต่อ พอถึงวันก็ออกเดินทางก่อน 1 วัน(อบรมเสาร์-อาทิตย์) ผมพักที่ตัวจังหวัดกับน้องชาย ไร่อธิศพัฒน์ตั้งอยู่ที่บ้านยาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ขับรถจากตัวจังหวัดไปทางอำเภอภูเรือเลี้ยวเข้าทางอำเภอท่าลี่เป็นระยะทางประมาณ 60 กม. บ้านของอาจารย์อยู่ในตัวบ้านยาง ซึ่งเป็นจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มีศาลาสำหรับการพบปะพูดคุยและแปลงผักกางมุ้งสำหรับสาธิต แต่ที่ตัวไร่ที่ทำการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ จะอยู่ในบริเวณหุบเขา ถ้ามาตามถนนลาดยางให้สังเกตุป้ายนี้แล้วขับรถเลี้ยวไปตามทางได้เลย ขับรถมาซักระยะก็ลังเลว่าทำไมไกลแบบนี้ก็สงสัยอยู่ว่าใช่หรือไม่ใช่ อาจเป็นเพราะไม่ชินทาง แต่พอสังเกตุทางเข้าไร่ดูจากลักษณะทางแล้วกว้างขวางมีรอบรถเข้าออกประจำก็ตัดสินใจขับต่อมาถึงไร่อธิศพัฒน์จนได้ครับ
บริเวณทางเข้าไร่
ยาวไป ยาวไป
เห็นไร่แล้วรึยังครับ ใบ้ให้ว่าอยู่ในหุบเขานู้น…. (ฮา)
ถึงแล้ว…..
ในส่วนของบริเวณไร่
บริเวณไร่ของอาจารย์เป็นที่ลาดชันอยู่ในหุบเขา สภาพของพื้นที่มีการพัฒนาให้มีการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ อย่างเป็นสัดส่วน มีห้องน้ำอย่างดี บริเวณทำอาหาร บริเวณกางเต้นท์สำหรับนอนพัก ศาลาเอนกประสงค์ ฯ มาทราบที่หลังว่าเราสามารถมากางเต้นท์นอนที่ไร่ของอาจารย์ได้เลยนะครับ เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศที่จะเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ได้เต็มที่ บริเวณไร่ของอาจารย์เป็นที่ลาดชันเชิงเขาห่างจากทางลาดยางประมาณ 3 กม. การเพาะปลูกเป็นการปลูกในแนวดิ่งซึ่งมีทั้งไม้ผลและพืชผักตามฤดูกาล มีการจัดทำตารางการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอย่างละเอียดที่ลุ่มก็ทำเป็นนาขั้นบันไดโดยมีการต่อท่อลำเลียงปุ๋ยลงมาจากที่สูง ระบบน้ำที่นี่แบ่งออกเป็น 2 ระบบคือ น้ำบาดาลกับน้ำพักจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เป็นระบบแรงดันนี้ตามธรรมชาติของพื้นที่ ระบบแบบนี้จะใช้น้ำจากธรรมชาติหรือสูบน้ำบาดาลขึ้นไปพักไว้ในโอ่งที่อยู่บริเวณบนสุดของพื้นที่ จากนั้นก็นำปุ๋ยน้ำไปใส่ไว้แล้วปล่อยมาตามท่อลำเลียงเข้าสู่แปลงย่อยหลาย ๆ แปลง แต่ละแปลงก็จะมีวาล์วปิด-เปิดในแถวตัวเอง เป็นการเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรตอนหน้าแล้งได้อีกด้วย ตามที่ผมเดินดูจะพบว่ามีจุดพักน้ำแบบนี้ 4 จุด แต่ละจุดมีโอ่งใบใหญ่ประมาณ 5-10 ใบ เป็นวิธีที่เอาชนะข้อจำกัดของภูมิประเทศได้ฉลาดมาก สามารถลดค่าแรงงานในการให้ปุ่ยให้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของแปลงผักจะมีการปลูกพืชสวนและพืชผักรวมกันเป็นแถว เช่น ระหว่างร่องกล้วยหรือร่องมะละกอก็จะมีการปลูกผักร่วมด้วย โดยการให้น้ำทางท่อมาออกที่สปริงเกอร์ รดครั้งเดียวได้พืชผักและพืชสวน ภายในบริเวณไร่ก็จะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ เศษผักที่เหลือทิ้งก็สามารถนำมาเป็นอาหารของไก่ได้อีกทาง ที่ไร่อธิศพัฒน์นี้ยังไม่มีไฟฟ้าเข้ามาถึง จึงมีการใช้แผงโซล่าเซลล์มาใช้ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลในการที่จะดึงไฟฟ้ามาจากถนนใหญ่ที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ผมว่าแค่แผงโซล่าเซลล์ก็น่าจะเพียงพอ และประกอบกับบรรยากาศดี ๆ แบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีไฟฟ้าก็ได้ครับ อากาศดีตลอดปี ไม่ร้อน ไม่หนาว ลมเย็นสบาย ถือเป็นการพึ่งพาตนเองที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับบริเวณที่พักก็มีลางกางเต้นท์สำหรับผู้ที่จะมีพักภายในไร่ให้ด้วย ห้องน้ำสะดวกเป็นสัดส่วน แนะนำให้ไปพักที่นี่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบกาณ์ครับ วันที่ผมไปก็มีน้องอาสาสมัครมาอยู่ก่อนแล้วประมาณ 1 อาทิตย์ และมีพี่ที่อบรมรุ่นเดียวกันอยู่ต่ออีก 1 อาทิตย์ ถือเป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับผู้ที่อยากฝึกปฏิบัติจริงได้มาลองลงสนามเจอของจริงเลยครับ ที่นี่อยู่แบบพี่น้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ค่าใช้จ่ายไม่มีอะไรมาก มีแต่ให้ช่วยค่ากับข้าวเท่านั้น ส่วนเราอยากจะอยู่เรียนรู้ต่ออีกกี่วันก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอเพียงเรามีใจที่จะอยากเรียนรู้อย่างแท้จริง ประสบการณ์จึงไม่ได้เกิดจากการฟังเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการมาลงมือทำและเรียนรู้จากผู้ที่ปฏิบัติมาจนสำเร็จแล้ว นั้นถึงเรียกว่าประสบการณ์อย่างแท้จริง
แปลงผักขั้นบันได
สปริงเกอร์อยู่ทุกที่ ให้น้ำพืชผักรวมถึงแถวของมะละกอก็ได้ด้วย
แปลงผักระหว่างร่องกล้วย (ไม่มีโรคตายพรายซักต้น)
เพาะเมล็ดพันธุ์ก่อนนำลงแปลง
แปลงผักระหว่างสวนมะม่วง
นาขั้นบันได
ระบบน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (แรงดันน้ำแรงมาก ดูต่อได้ในคลิป)
แปลงผักขั้นบันได
มีสปริงเกอร์ทุกแถว
เตรียมดิน
ศาลาสำหรับการอบรม
แผงโซล่าเซลล์
เลี้ยงไก่ได้ไข่ไก่ออร์แกนิค อาหารไก่ได้จากเศษผักที่เหลือทิ้ง
ต้นและผลเสาวรส
บริเวณลานกลางเต้นท์สำหรับพัก
ส่วนของการอบรม
มีค่าใช้จ่ายในการอบรมคนละ 400 บาทเป็นการช่วยค่ากับข้าว ซึ่งมีบริเวณกางเต้นท์และห้องน้ำไว้บริการ ใน 2 วันนี้ คุณจะได้เรียนรู้เรื่องราวดี ๆ อย่างมากมาย เรื่องค่าใช้จ่ายจึงเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับประสบการณ์และความรู้ที่เราจะได้รับอย่างมากมาย
การอบรมแบ่งออกเป็น 2 วัน บรรยากาศเต็มไปด้วยความเป็นกันเอง อาจารย์ได้เล่าประสบการณ์การทำงาน การทำไร่เกษตรอินทรีย์ การทำเพื่อสังคมของท่านให้ได้ฟัง การอบรมเหมือนเป็นพูดคุยกันโดยเนื้อหาวันแรกจะเป็นการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย การทำปุ๋ยต่าง ๆ การยับยั้งและกำจัดศัตรูพืช การปลูกอ้อยระยะห่าง 2 เมตร การปรุงดิน และความรู้ต่าง ๆ อีกมากมาย
ในวันที่ 2 จะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ในการทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการสนทนานอกรอบในตอนเช้าตรู่ก่อนการอบรม เนื้อหาในวันที่ 2 จะเน้นไปที่การทำผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น สบู่ออร์แกนิค แชมพูสมุนไพร น้ำยาเอนกประสงค์ สารจับใบ ฯลฯ ซึ่งเราสามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้อย่างมากมาย แนะนำให้มาสัมผัสบรรยากาศการอบรมที่เป็นกันเองครับ ตอนที่อบรมอยู่ก็มีโทรศัพท์โทรเข้ามาสอบถามทางมาไร่เป็นระยะและมีผู้คนหลั่งไหลเดินทางมาเยี่ยมชมจากทั่วประเทศอย่างไม่ขาดสาย วันที่ผมเดินทางไปก็มีมาจากกัมพูชาด้วยครับ
คำถามแรกที่อาจารย์จะถามคือ ทานข้าวมารึยัง ถ้ายัง…ทานข้าวก่อน (ต้องไปสัมผัสถึงความอบอุ่นเองครับ)
วันแรก
ผลิตภัณฑ์สาธิต
พักทานข้าวเที่ยง
พูดคุยต่อ
ลงเยี่ยมชมแปลง
ลองขุดมันญี่ปุ่น
วันที่ 2
สนทนาตอนเช้าอย่างเป็นกันเองก่อนการอบรม
พูดคุยต่อ
ทำผลิตภัณฑ์สบู่ออร์แกนิคกลิ่นน้ำนมข้าว (หอมม๊าก)
เทสบู่ใส่พิมพ์
กล่าวขอบคุณหลังจบการอบรม
ผู้คนหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย
บริเวณบ้านของอาจารย์อธิศพัฒน์ (บ้านกับไร่อยู่คนละที่กัน)
ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคและวัตถุดิบที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์
การเดินทางมา (ลองโทรสอบถามก่อนว่าอาจารย์อยู่หรือไม่)
ถ้าเดินทางมาจากทางเชียงก็ให้เข้าทางเชียงคานเลยครับ ส่วนถ้ามาจากตัวจังหวัดเลยให้ไปทางอำเภอภูเรือแล้วเลี้ยวเข้าแยกอำเภอท่าลี่ พอถึงบ้านยางจะมีป้ายเข้าไร่อธิศพัฒน์เลี้ยวไปตามทางลูกรังประมาณ 3 กม. ก็จะถึงบริเวณไร่แล้วครับ แนะนำให้ตั้ง GPS ไปที่ บ้านยางอำเภอท่าลี่
สิ่งที่ต้องเตรียม (กรณีไปอบรม)
- ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
- เต้นท์ ผ้าห่ม เครื่องนอน
- ยารักษาโรค (ถ้ามีโรคประจำตัว)
- และจิตใจที่มุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพื่อจะนำความรู้กลับไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อม
ถ่ายรูปกับครูบาอาจารย์ :
อาจารย์อธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์
อาจารย์ตั้งเป้าหมายอุทิศตัวในการทำเพื่อสังคม
ตอนท้ายของการพบปะพูดคุย อาจารย์อธิศพัฒน์ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยยึดตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง เพื่ออุทิศตัวในการทำเพื่อสังคมโดยเอาประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง เป็นจิตใจที่อยากจะทำเพื่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
พาชมไร่อาจารย์อธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์
ถ้าเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยเข้าไปสอบถามในแฟนเพจได้นะครับ